Cryptocurrency (คริปโตเคอร์เรนซี) หรือที่หลายคนรู้จักกันว่า “คริปโท” เป็นที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง และกำลังได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนในปัจจุบัน ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลไม่ใช่แค่กระแสอีกต่อไป โดยสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก บริษัทเอกชนที่มีชื่อเสียง นักลงทุนรายย่อย หรือแม้แต่รัฐบาลบางประเทศ ต่างสนใจในเรื่องสกุลดิจิทัล เพราะเชื่อว่าคริปโทฯ จะเปลี่ยนแปลงระบบการเงินในอนาคตได้
สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทฯ คืออะไร ?
คริปโทเคอร์เรนซี ( Cryptocurrency ) คือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่ต้องอาศัยการเข้ารหัส โดยคำว่า “Crypto” หมายถึง การเข้ารหัส ส่วนคำว่า “Currency” หมายถึง สกุลเงิน ทำให้ Cryptocurrency เป็นเงินดิจิทัลที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นสกุลเงินในอนาคต ที่จะเข้ามามีบทบาทในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์
ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือแลกเปลี่ยนกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หากผู้ใช้ยอมรับระหว่างกัน ปัจจุบัน คริปโทเคอร์เรนซียังไม่ถือว่าเป็น “เงิน” ที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในโลกรับรองว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender)
อย่างไรก็ตามสกุลเงินดิจิทัลก็มีความผันผวนทางมูลค่าเป็นอย่างมากคล้ายกับทุน นักลงทุนในวงการนี้จึงนิยมนำมันไปเทรดแลกเปลี่ยนเพื่อเพิ่มกำไรกันซะเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งความผันผวนไม่แน่นอนของมูลค่านี่เองที่ทำให้สกุลเงินดิจิทัลยังไม่ได้รับการรองรับจากธนาคารกลางให้ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายและไม่ถูกใช้เป็นหน่วยกำหนดราคาสิ่งของ แต่ถ้าเป็น “สกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารกลางออกใช้ (Central Bank Digital Currency: CBDC)” จะมีคุณสมบัติของเงินที่ครบถ้วนเพราะมีมูลค่าแน่นอนใช้แทนสกุลเงินท้องถิ่นได้ตามกฎหมาย
คุณสมบัติเบื้องต้นของคริปโทฯ
คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง มีการเข้ารหัสวิ่งอยู่บนระบบที่เรียกว่า “บล็อกเชน” มีราคาในการซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาดและความต้องการซื้อขาย คริปโทฯ จึงสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าแบบดิจิทัลได้ ไม่ได้มีลักษณะทางกายภาพเหมือน สกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) ของแต่ละประเทศที่มีการตีพิมพ์ธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ออกมา
บล็อกเชน เกี่ยวอะไรกับ คริปโทฯ
Blockchain คือ เทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกว่า Distributed Ledger Technology (DLT) ซึ่งเป็นรูปแบบการบันทึกข้อมูลที่ใช้หลักการ Cryptography ร่วมกับกลไก Consensus โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบ Blockchain นั้นจะสามารถทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยาก ช่วยเพิ่มความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของข้อมูล
บล็อกเชน เป็นเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลชุดเดียวกัน โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแต่ละบล็อก (Block) ที่เชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับห่วงโซ่ (Chain)
นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เราเรียกรูปแบบการเก็บและแชร์ข้อมูลแบบนี้ว่า Blockchain จุดเด่นสำคัญของบล็อกเชน คือ ความโปร่งใสและแก้ไขข้อมูลได้ยาก เช่น เมื่อมีธุรกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นจะถูกบันทึกในบล็อกเหล่านี้แล้ว คนใดคนหนึ่งจะไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใด ๆ ได้สำเร็จ เพราะทุกคนต่างก็มีสำเนาหรือประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดอยู่กับตัว
เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจก่อนว่า “บล็อกเชน” (Blockchain) ไม่ใช่คริปโทฯ แต่บล็อกเชนเป็นระบบที่คริปโทฯ ทำงานอยู่ พอพูดถึงคริปโทฯ 2 คำที่ตามมาคือ เหรียญ และ โทเคน ซึ่งความเป็นจริงแล้ว 2 คำแตกต่างกัน เพราะ เหรียญ (Coin) กับ โทเคน (Token) คือคนละส่วน และทำงานต่างกันด้วย
คริปโทฯ ที่เป็น “เหรียญ” (Coin) คืออะไร
เหรียญ หรือ คอยน์ คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเครือข่ายบล็อกเชนของตนเอง มักมีบทบาทเปรียบเสมือนเงินที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน แต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล และมีโปรเจคเพื่อพัฒนาเครือข่ายของตนเองในอนาคต เหรียญแต่ละเหรียญจะแตกต่างกันในแง่ของขนาดเครือข่าย ปริมาณเหรียญ ประสิทธิภาพการทำงาน ยกตัวอย่างเหรียญ เช่น Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH), และ Dogecoin (DOGE) ฯลฯ
หน้าที่ของเหรียญ (Coin) มีวัตถุประสงค์ในการใช้คล้ายกับ เงินจากโลกจริง (Physical Coin) ส่วนมากถูกใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่าง ๆ ขณะที่ราคาของเหรียญมักจะผันผวนตามความต้องการและปริมาณเหรียญในตลาด
เหรียญบางเหรียญ ยังสามารถนำมาจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมเครือข่าย (Gas fee) ที่ผู้ใช้ต้องจ่ายเพื่อใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ ของเครือข่ายบล็อกเชน อาทิ จ่าย Ether (ETH) เพื่อสร้าง Smart contract บนเครือข่าย Ethereum เป็นต้น
คริปโทฯ ที่เป็น “โทเคน” (Token) คืออะไร
โทเคน คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นมาบนเครือข่ายบล็อกเชนอื่น ๆ อีกทอดหนึ่ง ไม่มีเครือข่ายเป็นของตัวเอง ซึ่งมีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป โดยโทเคน (Token) ถูกสร้างขึ้นมาโดยการเขียน สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เพื่อสร้าง dApps (Decentralized Application) หรือ DeFi (Decentralized Finance) ซึ่งผู้สร้างสามารถเลือกเครือข่ายบล็อกเชนในการสร้างได้ด้วยตนเอง อาทิ Ethereum หรือ Binance Smart Chain เป็นต้น
หน้าที่ของโทเคน (Token) โทเคนสามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้เหมือนกับเหรียญ แต่จะมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตามที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น การมอบสิทธิ์เข้าถึงบริการของ DeFi หรือ โทเคนที่ผูกมูลค่ากับสินทรัพย์ประเภทอื่นเพื่อให้มีมูลค่าคงที่ (Stable Coin) เป็นต้น
นิยามของ Token กับ Coins ในแบบของ พรก.สินทรัพย์ดิจิทัลไทย
ในแง่ของ พรก.สินทรัพย์ไทยจะแตกต่างจากมุมมองโดยทั่ว ๆ ไปพอประมาณ เนื่องจากเป็นการตีความที่เกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ ที่กระแส ICO กำลังโด่งดังและพานักลงทุนเจ๊งกันเป็นแถว (มีผลสำรวจออกมาแล้วว่า 80% ของของโปรเจคที่ระดมทุนด้วย ICO นั้นเป็นโปรเจคหลอกลวง ลิงก์ข่าว)
- Coin ในนิยามของ พรบ.สินทรัพย์ดิจิทัลไทย คือ เหรียญหรือสกุลเงินดิจิทัล “ถูกสร้างขึ้นมาแบบเฉพาะเจาะจง” สำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการต่างๆ คล้ายกับเงินตรา (Currency) หรือแม้แต่ใช้สำหรับซื้อขายเหรียญดิจิทัลสกุลอื่น โดยเหรียญที่ใช้เป็นสื่อกลางที่เรามักคุ้นหน้าคุ้นตากันก็คือ Bitcoin , ETH นั่นเอง
- Token ในนิยามของ พรบ.สินทรัพย์ดิจิทัลไทย คือ Digital Token ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเสมือนตั๋วหรือแต้มสำหรับแลกหรือเข้าใช้บริการต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้เสมือนตั๋วผ่านทางไปสู่การลงทุนหรือออกเสียงในธุรกิจในรูปแบบของระบบนั้น ๆ สำหรับตัว Token นั้นก็จะถูกแยกย่อยออกมาอีก 2 ประเภท นั่นคือ
5 สกุลเงินดิจิทัลน่าสนใจในปี 2022
Solana (SOL)
Reference: ภาพจาก solana.com
Solana (SOL) ใช้หลักการทำงานของโปรโตคอลแบบ Hybrid ระหว่าง Proof-of-Stake และ Proof-of-History และมีการประมวลผลที่รวดเร็ว Solana ออกแบบมาเพื่อการทำธุรกรรมที่มีค่าธรรมเนียมต่ำและยังรับประกันในเรื่องความสามารถในการขยายตัว (Scalability) อีกด้วย หลายคนเชื่อว่า Solana เป็นคู่แข่งที่ใหญ่ที่สุดของ Ethereum
ซึ่งปัจจุบัน ETH สามารถประมวลผล 14 ธุรกรรมต่อวินาที ในขณะที่ SOL สามารถรองรับได้ถึง 65,000 ธุรกรรมต่อวินาที นอกจากนี้ SOL ยังคงมีความได้เปรียบในด้านความเร็วและต้นทุนในการทำธุรกรรม เนื่องจาก ETH ค่าธรรมเนียมก๊าซค่อนข้างแพง ภายในเวลาไม่ถึงสองปี
โปรโตคอลเลเยอร์-1 ได้ดึงดูดนักพัฒนาที่มีความสามารถจำนวนมาก และรองรับโปรเจ็คกว่า 350 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การกระจายอำนาจทางการเงิน (DeFi), NFTs และ Web3 ความสำเร็จของ Solana ได้รับความสนใจจากผู้จัดการสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เพิ่งเปิดตัว Solana Trust แก่ลูกค้าที่ร่ำรวย เพื่อให้พวกเขสได้สัมผัสประสบการณ์การลงทุนกับ SOL ด้วยเหตุนี้ Solana (SOL) จึงเป็นหนึ่งในเหรียญ Cryptocurrency ที่น่าสนใจในปีหน้า
Cardano (ADA)
Reference: ภาพจาก za.in.th
Cardano เป็นแพลตฟอร์มสำหรับทำ Smart Contract และเป็นหนึ่งในหลาย ๆ แพลตฟอร์มที่ขึ้นแท่นเป็น Ethereum Killer โดย Cardano ใช้หลักการ Proof-of-Stake (PoS) คือผู้ใช้จะทำการ Stake โทเคนเพื่อตรวจสอบธุรกรรมบนเครือข่ายแล้วจึงได้รับผลตอบแทน
มีความแตกต่างจาก Proof-of-Work (PoW) ซึ่งเป็นการขุดเหรียญโดยใช้คอมพิวเตอร์คำนวณสมการทางคณิตศาสตร์ ระบบ PoS ของ Cardano เป็นที่รู้จักในชื่อโอโรโบรอส (Ouroboros) สามารถปรับขนาด ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าระบบ PoW ของ Bitcoin และ Ethereum 1.0
รวมทั้งทาง Cardano ได้อ้างว่าเป็นระบบแรกที่พิสูจน์ได้ว่ามีความปลอดภัย สำหรับ Cardano มีเหรียญหลักที่ใช้ในระบบนิเวศคือ เหรียญ ADA Cardano (ADA) เป็นอีกหนึ่งเหรียญที่ได้รับความสนใจอย่างมาในปีนี้ โดยมีมูลค่าตามราคาตลาดที่ 55 พันล้านดอลลาร์ โทเค็นเริ่มซื้อขายเมื่อต้นปีไม่ถึง 0.20 ดอลลาร์ และพุ่งขึ้นสู่ระดับ 3 ดอลลาร์เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ทำให้ ADA กลายเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกก่อนหน้านี้ ปัจจุบัน Cardano (ADA) ซื้อขายที่ 1.22 ดอลลาห์ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ถึง 670% เลยทีเดียว และเป็นสกุลเงินดิจิทัลอันดับ 7 ของโลกในตอนนี้ ตามข้อมูลของ CoinGecko
Avalanche (AVAX)
Reference: ภาพจาก medium
Avalanche เป็นบล็อกเชน Smart Contract แบบ Open-source ที่ออกแบบมาสำหรับการพัฒนา Decentralized Applications และการใช้งานระดับองค์กร โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาการขยายตัว (Scalability) ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในหลายบล็อกเชน
นักพัฒนากล่าวว่า Avalanche สามารถปรับขนาด (Scalability) ความเร็ว และความสามารถในการสื่อสารและทำงานกับบล็อคเชนอื่น ๆ เครือข่าย Avalanche ได้รับความนิยมอย่างมากในปีนี้
ซึ่งเมื่อต้นปี 2021 AVAX ซื้อขายที่ราคาเพียง 3 ดอลลาร์ จากนั้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ราคาได้ทำสถิติสูงสุดตลอดกาล (All-time high) ที่ 146 ดอลลาร์ แซงหน้าเหรียญมีมสุดฮิตอย่าง Dogecoin มาได้ และกลายเป็นหนึ่งใน 10 เหรียญคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตอนนี้ซื้อขายอยู่ที่ 88.64 ดอลลาร์ โดยเพิ่มขึ้นราว ๆ 2694.5% ในปีนี้ และมีมูลค่าตามราคาตลาดมากกว่า 26 พันล้านดอลลาร์
Ethereum (ETH)
Reference: ภาพจาก top1markets
Ethereum 2.0 ถูกจับตามองอย่างกว้างขวาง และถือว่าเป็นยุคใหม่ของ Ethereum เลยทีเดียว บล็อกเชน Ethereum กำลังอัปเกรดเป็น Ethereum 2.0 ในปี 2021 ซึ่งเป็นโปรเจ็คที่จะดำเนินต่อไปในปี 2022 ฮาร์ดฟอร์กลอนดอนในเดือนสิงหาคม ได้เปิดตัวการเผาเหรียญ ซึ่งคาดว่าจะรองรับมูลค่าของเหรียญ ETH โดยการลดอุปทานลง และการใช้งานเติบโตขึ้น
นอกจากนี้ การอัพเกรด Altair เปิดใช้งานบนเครือข่ายหลักเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม การอัปเกรดเป็น Ethereum Beacon Chain จะทดสอบการเปลี่ยนไปใช้ Proof-of-stake (PoS) Ethereum chain หลักจะรวมเข้ากับ Beacon Chain ในปี 2022 เพื่อให้การอัพเกรด Ethereum 2.0 เสร็จสมบูรณ์
นักลงทุนสถาบันยังให้ความสนใจกับ Ethereum เพิ่มขึ้นอย่างมาก นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญบางคนยังเริ่มคาดการณ์ว่าเหรียญคริปโตอันดับสองของโลกอย่าง ETH อาจเป็นที่เก็บมูลค่า (Store of Value) แทนบิทคอยน์ (BTC) อีกด้วย เพราะความเติบโตของเทคโนโยลีบล็อกเชน และ NFT เพิ่มขึ้นอย่างมาก
Aniverse (ANIV)
เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 โดยบริษัท ครีเอทีฟ ดิจิทัล ลีฟวิ่ง จำกัด ซึ่งเห็นช่องทางเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องโลกเสมือนจริง (Metaverse) ในไทยที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น พร้อมเปิดตัว Aniverse Metaverse บนเทคโนโลยีบล็อกเชน สร้างการจำลองโลกเสมือนจริงและสร้างโอกาสทางการศึกษาผ่านรูปแบบ Edu Gamefi
ซึ่งพัฒนาขึ้นด้วยหลักการของเกม ผสมผสานเข้ากับการเรียน พร้อมสร้างรายได้ โดยจะร่วมกับมหาวิทยาลัยที่สนใจทั่วประเทศ ซึ่งผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ก็จะได้รับรางวัลเป็น NFT Asset โดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้ชื่อ “ANIV” เป็นสกุลเงินกลางในการแลกเปลี่ยน
ขณะที่เฟสต่อไปในช่วงไตรมาส 2 บริษัทเตรียมจะเปิดฟีเจอร์เรื่องของการซื้อขายที่ดิน โดยในระยะเวลาแรกมีจำนวน 250,000 บล็อก เปิดขายในราคาบล็อกละ 2,500 บาท และจะต่อยอดไปอีกกับ 3D Virtual ด้วยเทคโนโลยี AR (Augmented reality) และ VR (Virtual reality)
จากปัจจุบันที่การพัฒนายังอยู่เป็น 2D โปรเจ็กต์ “Aniverse Metaverse” โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างการศึกษาของประเทศไทย และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ภายใต้แนวคิด Learn to Earn ที่เข้ามาเป็นกลไกในการพัฒนาและสร้างโอกาสให้แก่ระบบการศึกษาไทย
สรุป
จะเห็นได้ว่า คริปโทฯ มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายคุณสมบัติ ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถสร้าง “รายได้” เข้ากระเป๋า และด้วยความนิยมสร้างรายได้จากคริปโทฯ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในบ้านเรา ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจว่าการบริหารจัดการเกี่ยวกับคริปโทฯ จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง มุมมองของเรามีวัตถุประสงค์เพื่อในการให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลทางการเงิน การลงทุน หรือคำแนะนำอื่น ๆ ใด นักลงทุนควรศึกษาจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกันและมีการควบคุมความเสี่ยงอยู่เสมอ
ผู้ประกอบการท่านใด ต้องการเดินบนเส้นทางธุรกิจออนไลน์ ปรึกษา Exvention ได้เลยครับ นอกจากนี้เรายัง รับทำเว็บไซต์และการตลาดออนไลน์ อีกด้วย !
Reference : เหรียญคริปโต 4 อันดับที่น่าจับตามอง
สรุปพื้นฐานความรู้คริปโตฯ ฉบับอัปเดต 2022
สกุลเงินดิจิทัล คืออะไร รู้จัก 7 สกุลเงินบนโลกออนไลน์ ที่ใช้ซื้อ – ขายได้แทนเงินจริง
“คริปโทเคอร์เรนซี” คืออะไร ทำความเข้าใจคริปโทฯ แบบเร่งด่วนใน 5 ข้อ
Coin v.s. Token คำว่าเหรียญ มีมากกว่าที่คุณคิด
Blockchain คืออะไร? การปฏิวัติตัวกลางครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์