Virtual Influencer อีกหนึ่งกลไกทางตลาดเพื่อเตรียมความพร้อมโลก Metaverse ที่บวกกับการทำการตลาดแบบใหม่ด้วย AI Influencer ปัจจุบันที่โลกก้าวเข้าสู่ยุค Metaverse ไปบ้างแล้ว ส่งผลให้การทำการตลาดย่อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วย
เช่นกันกับ Influencer รูปแบบใหม่ที่ไร้กังวลเรื่องภาพลักษณ์หรือข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ตัวบุคคล สามารถหล่อหลอมให้เข้าใจแบรนด์ได้อย่างง่ายดาย และสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากให้เป็น ซึ่งนับเป็นข้อดีอย่างมากสำหรับแบรนด์เพราะสามารถสร้าง “Brand Ambassador ที่สมบูรณ์แบบได้” แม้ไม่มีเลือดเนื้อ ไร้แม้กระทั่งลมหายใจ แต่อินฟลูเอนเซอร์ยุคใหม่บนโลกเสมือนเหล่านี้กลับสามารถทำรายได้ให้กับหลายแบรนด์ดัง และกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์แนวใหม่ที่จะเข้ามาเขย่าวงการธุรกิจทั่วโลก มาทำความรู้จักกันดีกว่าว่าพวกเขาเป็นใคร และจะมีอิทธิพลขนาดไหนกันแน่
Virtual Influencer คือ อินฟลูเอนเซอร์ที่ถูกสร้างขึ้นจากโปรแกรมต่าง ๆ เรียกอีกอย่างว่า CGI Influencer ที่ถึงแม้จะไม่มีเลือดเนื้อหรือตัวตนอยู่จริง แต่บนโลกเสมือนจริงนั้นพวกเขาจะเป็นใครก็ได้ ทำอาชีพอะไรก็ได้ จะมีพฤติกรรมหรือนิสัยแบบใดก็สุดแท้แต่บริษัทหรือแบรนด์ผู้สร้างจะออกแบบ กล่าวได้ว่าเป็นการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกสร้างคาแร็กเตอร์ Influencer ขึ้นมาให้มีความเหมือนมนุษย์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา ไลฟ์สไตล์
ซึ่งบริษัทผู้พัฒนาอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับรูปลักษณ์ และโครงสร้างของมนุษย์ เพื่อสร้างอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ที่ดึงดูดคน ทำให้ Virtual Influencer ของพวกเขาเป็นผู้มีอิทธิพลในโลกโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Instagram, TikTok หรือ YouTube
Table of Contents
Toggleกระแสโลกเสมือนจริงทำให้การสื่อสารการตลาดเปลี่ยนแปลง
ตั้งแต่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้ประกาศเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Facebook เป็น Meta เพื่อรองรับสังคมเสมือน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เองทำให้วิธีการสื่อสารย่อมผันเปลี่ยนไปตามกระแสสังคมเช่นกัน ทำให้ กระแสโลกเสมือนจริง (Virtual) เหมือนว่าจะไม่ใช่เป็นสิ่งที่เพ้อฝันหรือห่างไกลความเป็นจริงอีกต่อไป โลกเสมือนจริงที่พร้อมด้วยสภาพแวดล้อมจำลองเชื่อมโยงระหว่างโลกปัจจุบันกับ Metaverse ซึ่งผู้คนจะสามารถใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ซื้อของ กินข้าว เดินทาง ได้ผ่าน Avatar และเชื่อมโยงผ่านอุปกรณ์ เช่น แว่นตา เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Facebook สู่ Meta ในที่สุด
ซึ่งในวงการการตลาด อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ก็มองเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงได้ค้นหาวิธีที่จะสามารถอุดข้อจำกัดของอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นมนุษย์ นั้นคือการ สร้างสิ่งที่คล้ายมนุษย์ขึ้นมาทดแทน หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง (Virtual Influencer) ซึ่งอธิบายได้ง่าย ๆ คือ คาแร็กเตอร์ ที่มีชื่อ, มีหน้าตา, มีตัวตน แต่ไม่มีชีวิต ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งหน้าตาจะละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์จริง ๆ จนแทบจะแยกไม่ออกเลยก็ว่าได้ ซึ่งแคแร็กเตอร์ดังกล่าวนี้มีการกำหนด ความชอบ, อายุ, สีผิว, ความสูง, น้ำหนัก หรือแม้กระทั่งการแต่งกาย
ซึ่งเบื้องหลังการสร้างอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ให้เติบโตบนโลกโซเชียลมีเดีย และได้ทำงานกับแบรนด์ต่าง ๆ นั้น ต้องมีคนทำงานเบื้องหลังหลายทีม ไม่ว่าจะเป็นทีมด้านคอมพิวเตอร์ที่คอยดูแล ปรับแต่ง อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ให้ออกมามีหน้าตาบุคลิก ลักษณะ เสมือนมนุษย์จริง ๆ มีครีเอเตอร์ที่เป็นผู้กำหนดคาแร็กเตอร์ ลุคการแต่งตัว ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เช่น จัดฉากให้พวกเขาไปเที่ยว ไปสังสรรค์กับเพื่อน ไปเดต หรือไปทำงานร่วมกับ Influencer คนอื่นบนโลกออนไลน์
Virtual Influencer สามารถอุดข้อจำกัดของ Influencer ได้อย่างไร
นอกจากอินฟลูเอนเซอร์เสมือนเหล่านี้จะมีอายุเท่าเดิมไปตลอดกาลแล้ว พวกเขามีอิทธิพลในโลกโซเชียลไม่ต่างอะไรจากศิลปินดาราหรือเซเลบริตี้อื่น ๆ และยังมาพร้อมกับข้อดีอีกมากมายที่ทำให้แบรนด์ต้องร่วมงานด้วย ไม่ว่าจะเป็น
1.ปรับแต่งได้ตามความต้องการ
เพราะสร้างมาจากเทคโนโลยี ทำให้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนเหล่านี้ค่อนข้างที่จะสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก ไปจนถึงบุคลิกภาพ
2.อินฟลูเอนเซอร์เสมือนไม่มีข่าวฉาว
ต่างจากมนุษย์ทั่วไปที่ ไม่สมบูรณ์แบบโดยธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำผิด มีข้อขัดแย้ง หรือมีเรื่องอื้อฉาวที่ยากจะฟื้นฟูชื่อเสียงคืนมา ส่งผลให้แบรนด์ได้รับผลกระทบไปด้วย ทำให้แบรนด์ระมัดระวังมากขึ้นในการร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้
3.ควบคุมการทำงานได้ง่ายกว่า
เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์เสมือนสร้างขึ้นจากเทคโนโลยี นั่นหมายถึงหากแบรนด์จะให้อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้รีวิวสินค้า ก็เพียงแค่ใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างขึ้น ที่มีข้อดีคือแบรนด์สามารถเลือกสถานที่ได้แทบจะทุกที่บนโลก ต่างจากการใช้คนจริงที่อาจต้องออกกองถ่ายทำ ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่ เวลา อากาศ แถมหากชิ้นงานผิดพลาดก็ยากที่จะแก้ไขหรือถ่ายทำใหม่ และสุดท้ายอาจทำให้การปล่อยโฆษณาของแบรนด์ต้องเลื่อนออกไป
4.สร้างการรับรู้ที่แปลกใหม่
การร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์เสมือนยังสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค และยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้แบรนด์นั้น ๆ ดูล้ำสมัยมากขึ้น เนื่องจากทำงานร่วมกับเทคโนโลยี
5.สามารถใช้ได้ทุกสถานการณ์
เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คนออกจากบ้านไม่ได้ แต่ Virtual Influencer สามารถถูกตัดต่อให้ไปเที่ยว และไปร่วมงานกับ Virtual Influencer คนอื่น หรือดาราที่เป็นคนจริง ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทาง
นอกจากข้อดีที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมี ข้อเสีย อยู่ด้วย เช่น
1.มีราคาค่าตัวค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและทักษะในการพัฒนาที่มาก ทำให้ต้นทุนในการสร้างสูง
2.อาจเกิดการผิดพลาดของข้อมูล ในบางครั้ง Virtual Influencer อาจเกิดปัญหาด้านข้อมูลที่อาจเกิดความบกพร่องไม่ตรงตามที่แจ้ง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดของทีมงานที่ทำงานอยู่เบื้องหลังได้
การเติบโตทางการตลาดของ Virtual Influencer
ข้อมูลจาก Global Influencer Marketing ประมาณการว่า ตลาดของ Influencer Marketing ทั่วโลกจะมีขนาดใหญ่ถึง 8.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2028 จากปี 2020 ที่มีขนาด 7.68 พันล้านเหรียญ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 30.3% เนื่องจากการใช้งานอินฟลูเอนเซอร์เสมือนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผลจากรายงานนี้เองทำให้ธุรกิจหลาย ๆ ธุรกิจทั่วโลกต่างมองเห็นช่องทางการทำรายได้จากอินฟลูเอนเซอร์เสมือนเหล่านี้มากขึ้น
ขณะที่ข้อมูลจาก iiMedia Research ระบุว่า อุตสาหกรรม Virtual Idol ของจีนในปี 2020 มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 487 ล้านเหรียญ เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 70% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 875.9 ล้านเหรียญในปีนี้
ไม่เพียงเท่านั้น แต่การเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์เสมือน ยังทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นเทคโนโลยี AR และ VR ขยายตัวไปด้วย โดยคาดว่าในประเทศจีน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจะเติบโตจาก 9 พันล้านเหรียญในปี 2020 สู่ 1.5 หมื่นล้านเหรียญในปีนี้
และจากรายงานของ ARK’s Big Ideas 2021 ระบุว่า รายได้จากธุรกิจเกี่ยวกับโลกเสมือนในทั่วโลกจะทะลุ 4 แสนล้านเหรียญภายในปี 2025
จะเห็นได้ว่าจากหลายรายงานที่กล่าวถึงอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ทำให้การเติบโตทางการตลาดสูงขึ้น ซึ่งถ้าธุรกิจใดต้องการใช้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนเหล่านี้เข้ามาร่วมงาน อาจจะทำให้ธุรกิจของท่านมีโอกาสได้นำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ก่อนธุรกิจคู่แข่งก็ได้
จุดแข็งของอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ที่ดัง ๆ ทั้งหมดถูกสร้างและควบคุมโดยบริษัทที่ทำงานด้าน AI และ CGI และเมื่ออินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ไม่แก่ ไม่ป่วย ไม่ตาย จึงทำให้มันพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ ในอนาคต และเป็นไปได้สูงที่ในอนาคตแบรนด์ดัง ๆ อาจจะอยากสร้างอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ที่เป็นของตัวเองเพื่อมาเป็นนางแบบ หรือพรีเซนแบรนด์ตัวเอง
ซึ่งถ้าแต่ละแบรนด์มีอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ของตัวเอง ก็อาจจะมีการเอาอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ของแต่ละแบรนด์มาทำงานร่วมกันก็ได้ในอนาคต หรือลองคิดเล่น ๆ ว่า เมื่อต่อไปคนดังที่เป็นมนุษย์ต้องแก่ลง มีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนเดิมแล้ว แต่ถ้าพวกเขามี CGI เป็นของตัวเองตอนที่ยังสวยหล่อ พวกเขาก็ยังสามารถใช้มันทำงานเบื้องหน้าได้อีก แม้ตัวเองจะแก่แล้วก็ตาม
อินฟลูเอนเซอร์เสมือน ยังไม่สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ทุกเรื่อง
ในปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ยังไม่ได้บูมในโลกการทำการตลาดขนาดนั้น และคนดังไม่พากันตกงานแน่นอน เพราะการรับรู้ของมนุษย์ยังไม่ค่อยเชื่อถือมนุษย์เสมือนขนาดนั้น พวกเขาคิดว่าถ้าคนที่คนที่พวกเขาชอบไม่สามารถเจอได้ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วจะติดตามไปทำไม ถึงโปรแกรมในปัจจุบันสามารถเสกให้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนคล้ายกับมนุษย์ได้ขนาดไหน แต่ก็ยังมีความเหมือนมนุษย์จริง ๆ ไม่ได้ รวมถึงมีข้อจำกัดของประเภทสินค้าที่ใช้จริงแล้วเห็นผล เช่น ประเภทสกินแคร์ หรือ เครื่องสำอางต่าง ๆ ซึ่งถ้าเทียบกับการรีวิวของมนุษย์จริง ๆ แล้ว ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะน่าเชื่อถือ และสามารถโน้มน้าวใจได้มากกว่า
แต่ถึงแบบนั้น Influencer มนุษย์ก็ไม่ควรชะล่าใจเพราะอาจคิดว่ายังไงอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ก็ไม่สามารถมาแทนที่ตัวเองได้ เพราะสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์เสมือนกำลังพัฒนาอยู่คือทำให้เหมือนมนุษย์ให้ได้มากที่สุด และพยายามฉีกกฎ Beauty Standard ออกไป เช่น อาจจะไม่ใช่ผู้หญิงที่สวยเป๊ะ แต่ก็ยังสามารถเป็นที่จดจำบนตลาดได้
ดังนั้นถ้าใครเป็น Influencer มนุษย์ก็ยังสามารถมีความคิดความอ่านและโดดเด่นได้ในแบบของมนุษย์ที่โลกเสมือนยังทำไม่ได้เช่นกัน
ทำความรู้จักกับ Virtual Influencer ชื่อดัง
แน่นอนว่าในต่างประเทศมีอินฟลูเอนเซอร์เสมือนมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
Lil Miquela
สาวน้อยวัย 19 ปี จากแคลิฟอร์เนีย มีความโดดเด่นด้วยในหน้าที่มีกระและไลฟ์สไตล์ชีวิตแบบคนเมือง ดูสนุกสนาน ทำให้เธอได้กลายมาเป็นนางแบบ นักร้อง โดยได้รับความนิยมสูงสุดในโลกเสมือน ทำให้เธอมียอดติดตามในอินสตราแกรมสูงถึง 3 ล้านคน
Knox Frost
หนุ่มวัย 20 ปีจากแอตแลนตา ที่เคลมตัวเองว่าเป็น Male Top Virtual Influencer ของโลก ล่าสุดยังได้เข้าร่วมงานในแคมเปญ COVID-19 Solidarity Response Fund ขององค์กรระดับโลกอย่าง World Health Organization (WHO) เพื่อช่วยระดมทุนและเป็นกระบอกเสียงเรื่องการเอาชนะความวิตกกังวลและความเหงาของสถานการณ์โควิด-19 นี้ด้วย
Lu do Magalu
ปิดท้ายด้วยอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจากบราซิล และดูเหมือนว่าจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์เสมือนคนแรก ๆ ของโลก แม้ว่าเธอจะไม่ได้มีความเป็น Meta-Human อย่างคนอื่น แต่เธอก็ได้รับความนิยมและสร้างรายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
Virtual Influencer ของไทย
แน่นอนว่าในต่างประเทศก็มีอินฟลูเอนเซอร์เสมือนกันหลายคน ของประเทศไทยก็มีอยู่เช่นกัน
“ไอ-ไอรีน” ครีเอทีฟสาววัย 21 ปี
ไอ-ไอรีน สาวน้อยวัย 21 ปี เธอมาพร้อมกับความโดดเด่นที่โฉบเฉี่ยว น่าค้นหา มั่นใจในตัวเอง ตอบรับแนวคิดโลก Metaverse ที่สร้างสรรค์ทุกอย่างได้บนโลกออนไลน์ เธอผู้นี้เกิดขึ้นจากความเชื่อของ SIA Bangkok ที่เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่มีชีวิตออนไลน์ตลอดเกือบ 24 ชั่วโมง
ปัจจุบัน ไอ-ไอรีน มีผู้ติดตามบนอินสตาแกรม @ai_ailynn จำนวนกว่า 1 หมื่น followers หลังจากการเปิดตัวด้วยโพสต์แรกของเธอในวันที่ 24 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันนี้เธอมีแบรนด์ผู้สนับสนุนที่เห็นชัดรายหนึ่งคือแบรนด์ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์อย่าง AIS เป็นต้น
“กะทิ-เคธี่” สาวแซ่บผิวสีแทน
กะทิ หรือ เคธี่ อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง อีกรายในประเทศไทย เปิดตัวสะท้อนด้วยการสะท้อนความเป็นตัวตนของเธอด้วยแคปชั่นที่ว่า “เกิดมามีกระ…กะแล้วว่าต้องปัง ชื่อ ‘กะทิ’ แม่ตั้งให้ แต่ชื่อ ‘Katie’ เพื่อนต่างชาติเรียกเด้อ” และ “ถึงเป็นสาวอกเล็ก แต่ท่าโพสจะเล็กไม่ได้นะคะ”
เธอผู้นี้กำลังถูกกล่าวถึงอย่างมาก ขึ้นเปิดตัวบนบิลบอร์ดสร้างความสงสัยอยู่ในเมืองและในหลายสถานที่ชวนให้รู้จักเธอ และในอินสตาแกรมของเธอยังร่วมงานกับแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ รวมถึงร่วมงานถ่ายแบบกับ “ปันปัน” สุทัตตา อุดมศิลป์ นักแสดงสาวชื่อดัง
โลก Metaverse อาจทำให้มีโอกาสได้เจอ Virtual Influencer ตัวเป็น ๆ
ถ้าในอนาคตเราสามารถใช้ชีวิตในโลก Metaverse ได้จริง ๆ โดยคนต้องสวมแว่น VR เพื่อเข้าไป เราอาจจะได้เจอกับอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงตัวเป็น ๆ ด้วย แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะเกิดขึ้น แต่ความจริงแล้วบริษัท Meta (ชื่อเดิมคือ Facebook) ก็แอบซุ่มพัฒนาอยู่ พร้อมกับการรีแบรนด์ใหม่ทั้งหมดเพราะฉะนั้นโลก Metaverse อาจจะอยู่ไม่ไกลมากนักก็เป็นได้
และถ้ามีกระแสการเปลี่ยนแปลงออกมาจริง ๆ การใช้ชีวิตของคนเราย่อมจะถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย สังเกตง่าย ๆ คือช่วง Work Form Home ระหว่างสถานการณ์ COVID-19 นี้ มีบริษัทดิจิทัลหลายเจ้าได้ปรับเปลี่ยน พัฒนา รูปแบบของ Social Network
ที่สามารถสร้างตัวละครของเราเข้าไปอยู่ในออฟฟิศได้ ซึ่งถึงจะไม่ได้เหมือนออฟฟิศในทุกมิติ แต่ในอนาคตเราอาจจะแค่สวมแว่น VR แล้วเสมือนนำตัวเองเข้าไปทำงานในออฟฟิศจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังนั่งทำงานอยู่ที่บ้านก็ได้
สรุปว่า
ในปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง อาจจะไม่ได้รับความนิยมถึงขนาดเทียบเท่า Influencer ที่เป็นมนุษย์ แต่ถ้าในอนาคตบริษัทดิจิทัลสามารถพัฒนา อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ให้มีความโดดเด่น มีความแตกต่าง สามารถถ่ายทอดความคิดได้ ไลฟ์สไตล์เข้าใจและซื้อใจมนุษย์ได้
นั่นอาจเป็นไปได้เช่นกันว่าอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง นี้จะสามารถเติบโตไปได้อีกไกล รวมถึงถ้ามีแรงผลักดันจากโลก Metaverse แล้ว โดยโลกเสมือนสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย แน่นอนว่าอินฟลูเอนเซอร์เสมือนก็อาจจะเข้ามามีบทบาทสำคัญของการทำการตลาดในโลกอนาคตก็เป็นได้
ผู้ประกอบการท่านใด ต้องการเดินบนเส้นทางธุรกิจออนไลน์ ปรึกษา Exvention ได้เลยครับนอกจากนี้เรายัง รับทำเว็บไซต์ อีกด้วยท่านใดสนใจติดต่อเราได้เลยครับ
บทความอ้างอิง
อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ปราศจากลมหายใจ แต่มีชีวิต ขวัญใจแบรนด์ยุคใหม่ ไร้ปัญหาภาพลักษณ์เสื่อม
อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ทางเลือกใหม่ของวงการมาร์เก็ตติ้ง
รู้จัก อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง คนดังที่โลดแล่นบนโลกเสมือนจริง | Createx (createxhouse.com)
รู้จัก อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ในไทย ‘ไม่มีชีวิต’ แต่ ‘มีตัวตน’ (prachachat.net)
รู้จักกับอินฟลูเอนเซอร์ แนวใหม่อย่าง อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง – DIGITORY (digitorystyle.com)